ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนะนำหนังสือ : ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย

2
ธันวาคม
2565

ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย

  • ผู้เขียน : รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน
  • บรรณาธิการ : กษิดิศ อนันทนาธร
  • พิมพ์ครั้งที่ 1 : 10 ธันวาคม 2565
  • พิมพ์ที่ : บริษัท ภาพพิมพ์ จำกัด
  • ปีที่พิมพ์ : 2565
  • จำนวนหน้า : 88 หน้า
  • ISBN : 978-616-92435-7-1
  • ราคา 90 บาท

สารบัญ

  • คำนิยม
  • คำนำผู้จัดพิมพ์
  • คำนำผู้เขียน
  • ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย
  • ประวัติผู้เขียน
  • ภาคผนวก
    • บทสัมภาษณ์นายปรีดี พนมยงค์ เกี่ยวกับทัศนะทางการเมือง
    • ผู้บริหารมูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และสถาบันปรีดี พนมยงค์

คำนำผู้จัดพิมพ์

การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ได้ดำเนินมาครบ 90 ปีแล้ว ถือเป็นอีกหมุดหมายสำคัญที่สังคมไทยจะได้ทบทวนปฐมบทแห่งการเปลี่ยนแปลงที่มุ่งหวังให้สังคมก้าวไปข้างหน้า หรือที่เรียกว่า “การอภิวัฒน์” กันอีกครั้ง ถึงแม้ตลอดเส้นทาง 90 ปี จะต้องพบอุปสรรค ฉุดรั้งให้สังคมเดินถอยหลัง สวนทางกับเจตจำนงแห่งการอภิวัฒน์ แต่นั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้รักชาติ รักประชาธิปไตย จักต้องย่อท้อ เพราะการดึงให้สังคมถอยหลัง ย่อมเป็นได้แค่เพียงชั่วคราวตามกฎธรรมชาติ ประชาธิปไตยเป็นเรื่องของการต่อสู้และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จากรุ่นสู่รุ่น…จนกว่าจะบรรลุถึงซึ่งประชาธิปไตยสมบูรณ์ของปวงชน

หากเราจะรำลึกวาระครบรอบ 90 ปี แห่งการอภิวัฒน์ ให้เป็นไปอย่างมีความหมายและเข้าถึงอุดมคติแห่งการอภิวัฒน์อย่างถ่องแท้ ก็ควรต้องกลับไปศึกษาความคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ในฐานะมันสมองของคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และอุดมการณ์รากฐานของการอภิวัฒน์ ซึ่งก็คือ “อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” อันเป็นปณิธานร่วมกันของคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วยหลักการใหญ่ 2 ประการ คือ 1) หลักที่เป็นไปเพื่อชาติ คือ เอกราช อธิปไตย สันติภาพและความเป็นกลาง 2) หลักที่เป็นไปเพื่อประชาชน คือ ประชาธิปไตยสมบูรณ์ทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม…นี่คืออุดมการณ์รากฐานที่ค้ำจุนหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ดังที่ได้ประกาศเป็นปฏิญญาในการพัฒนาชาติไทยเอาไว้เมื่อ 90 ปีก่อน

ปรีดี พนมยงค์ ได้นิยามปรัชญาการเมืองของตนเองว่า “สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย (Scientific Democratic Socialism)” เพราะว่าประชาธิปไตยและสังคมนิยมควรมีพื้นฐานเป็นวิทยาศาสตร์…ดังนั้น จึงไม่ต้องถกเถียงกันว่าท่านนิยมและยึดถือลัทธิทางการเมืองแบบใดกันแน่ โดยปรีดีฯ ได้กล่าวว่า “ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ภายใต้ปรัชญาและระบอบสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งเอกราชและอธิปไตยของชาติ สันติสุข ความเป็นกลาง ความไพบูลย์ และประชาธิปไตยของประชาชน” การที่มนุษย์จะสามารถผลักดันให้สังคมก้าวหน้าไปสู่ระบบประชาธิปไตยทั้งในทางเศรษฐกิจและการเมืองได้นั้น ก็จำต้องมีทัศนะทางสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ยึดถือเป็นหลักนำในการขับเคลื่อนสังคม

สถาบันปรีดี พนมยงค์ เห็นควรที่เราจะได้ศึกษาทบทวนหลักการดังกล่าว และฟื้นฟูอุดมคติในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมขึ้นอีกครั้ง ด้วยพลังของคนรุ่นใหม่ เพื่อให้สังคมไทยก้าวเดินต่อไปในครรลองที่ควรจะเป็น ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย ตามความหมายที่แท้จริง จึงได้จัดงานเสวนา PRIDI Talks #16 “90 ปี แห่งการอภิวัฒน์สยาม อุดมการณ์เพื่อชาติและราษฎรไทย” ขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565 และได้เชิญ รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาเป็นผู้แสดงปาฐกถาในหัวข้อ “ปรัชญาสังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย” ซึ่ง อ.มุนินทร์ ได้อธิบายขยายความ แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคุณค่าทางจารีตประเพณีและคุณค่าเชิงเหตุผลในทางวิทยาศาสตร์ โดยเชื่อมโยงเนื้อหาเข้ากับความคิดแท้จริงทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ไว้อย่างแหลมคมและเป็นระบบ

หนังสือเล่มนี้ จะเป็นประตูอีกบานที่เชื่อมโยงแนวคิดของคนยุคปัจจุบัน สู่แนวคิดทางการเมืองของปรีดี พนมยงค์ ซึ่งสถาบันปรีดีฯ จะได้นำเสนอต่อไปในหนังสือ “ปรีดีปรัชญา: สังคมนิยมวิทยาศาสตร์ประชาธิปไตย”

ปรีดิวิชญ์ พนมยงค์
24 มิถุนายน 2565